สงครามรัสเซีย-ยูเครน: ทหารอาสาหรือทหารรับจ้าง

เนื่องจากการที่รัสเซียบุกยูเครนในปี 2022 มีการอ้างถึงทหารอาสา (Volunteers) และทหารรับจ้าง (Mercenaries) ที่แต่ละฝ่ายพูดกันไปคนละทาง โดยเฉพาะรัสเซียที่กล่าวว่าชาวต่างชาติที่รบให้ยูเครนเป็นทหารรับจ้าง ทำให้ จขบ. เกิดความสงสัยจนไปอ่านอนุสัญญาเจนีวาในฐานะที่เป็นหลักฐานปฐมภูมิ

ในฐานะชาวบ้านธรรมดาที่ไม่ได้มีพื้นฐานทางกฏหมาย ก็สรุปตามออกมาได้ตามอนุสัญญาเจนีวานี้ โดยไม่ได้พิจารณาถึงกฏหมายที่แต่ละประเทศซึ่งอาจแตกต่างหรือมีรายละเอียดต่างกัน ยังไงถ้ามีความผิดพลาดหรือข้อมูลเพิ่มเติม ก็ขอคำแนะนำด้วยค่ะ

ตั้งแต่สมัยโบราณ การมีกองทัพประจำการขนาดใหญ่เป็นเรื่องยากเพราะต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมาก ที่ต้องเป็นประเทศขนาดใหญ่ที่ร่ำรวยจึงจะทำได้ ส่วนใหญ่มักเป็นกององครักษ์ขนาดไม่ใหญ่นัก เมื่อเกิดสงครามก็มักเกณฑ์ชาวบ้านเป็นไพร่พล มีการจ้างทหารรับจ้างเป็นกำลังเสริมหรือเป็นกองกำลังเฉพาะด้าน และมีทหารอาสาที่เข้าร่วมโดยไม่ได้เป็นทหารรับจ้างด้วย ถ้านึกถึงประเทศไทยในอดีต สยามก็มีหทารรักษาพระองค์จำนวนหนึ่ง มีการเกณฑ์ไพร่หลวงหรือไพร่สมเมื่อเกิดศึกสงคราม และยังมีทหารอาสาต่างชาติที่เป็นกองประจำการหรือเฉพาะกิจ คนชาติเดียวกันที่เป็นผู้บัญชาการก็มักมีตำแหน่งเป็นขุนนางไทย เช่น พระยาราชวังสันเป็นจางวางอาสาจาม ฯลฯ

ก่อนที่จะมีความพยายามที่จะจัดระเบียบการทำสงครามให้มีมนุษยธรรมขึ้น การเรียกชื่อกำลังพลต่างๆ ก็ดูเหมือนจะไม่สำคัญหรือมีผลกระทบมากนัก เพราะเมื่อถูกจับก็ไม่ได้มีความแตกต่างกันมากมาย เช่น ในการเรียกค่าไถ่ สิ่งที่สำคัญคือตนเองหรือครอบครัวมีเงินจ่ายหรือไม่มากกว่า

แต่เมื่อมีอนุสัญญาเจนีวาฉบับปี 1864 (พ.ศ. 2407) อนุสัญญากรุงเฮกในปี 1899 (พ.ศ. 2442) และปี 1907 (พ.ศ. 2450) รวมถึงที่ใช้ในปัจจุบันคืออนุสัญญาเจนีวาปี 1949 (พ.ศ. 2492) ที่ประกอบไปด้วยสนธิสัญญา (Treaty) สี่ฉบับ และภายหลังยังมีพิธีสาร (Protocols) สามฉบับเพิ่มเติมในปี 1977 (พ.ศ. 2520) และ 2005 (พ.ศ. 2548) ทำให้สถานะของกำลังพลมีความสำคัญ เพราะมีความคุ้มครองที่แตกต่างกัน

ทั้งนี้ ถึงมีการแปลอนุสัญญาเจนีวาเป็นภาษาไทย แต่ จขบ. อ่านฉบับอังกฤษเพราะฉบับไทยอ่านแล้วต้องแปลเป็นไทยอีกรอบ และขอเขียนสรุปด้วยสำนวนบ้านๆ เพราะถึงจะพยายามก็เขียนสำนวนกฎหมายไม่เป็น

อนุสัญญาเจนีวาฉบับที่ 3 ที่เกี่ยวกับการปฎิบัติต่อเชลยศึก (Prisoners of War) ได้นิยายคุณสมบัติของเชลยศึกในมาตราที่ 4 ว่าคือบุคคลที่อยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งดังต่อไปนี้ ซึ่งถูกข้าศึกควบคุมตัว
  1. ผู้สังกัดในกองทัพของประเทศที่ร่วมสงคราม รวมถึงผู้สังกัดในหน่วยพลเรือนติดอาวุธและหน่วยอาสามัครที่เป็นส่วนของกองทัพ
  2. ผู้สังกัดในหน่วยพลเรือนติดอาวุธและหน่วยอาสามัครอื่น รวมถึงกลุ่มต่อต้านที่จัดตั้งขึ้นของประเทศที่ร่วมสงคราม ปฏิบัติการในและนอกอาณาเขตของตนเอง แม้ว่าอาณาเขตนั้นจะถูกยึดครอง โดยมีเงื่อนไขว่า (1) มีผู้บังคับบัญชาซึ่งรับผิดชอบต่อผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา (2) มีเครื่องหมายที่เห็นได้ชัดเจนในระยะไกล (3) ถืออาวุธโดยเปิดเผย (4) ปฏิบัติการตามกฎและประเพณีการทำสงคราม
  3. ผู้สังกัดในกองทัพประจำการซึ่งภักดีต่อรัฐบาลหรืออำนาจที่ประเทศผู้ควบคุมตัวไม่ได้รับรอง
  4. บุคคลที่เข้าร่วมกับกองทัพ แต่ไม่ได้สังกัดโดยตรง เช่น พลเรือนที่เป็นลูกเรือในเครื่องบินทหาร ผู้สื่อข่าวสงคราม ผู้รับเหมา ผู้สังกัดในหน่วยแรงงานหรือบริการที่เป็นสวัสดิการของกองทัพ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องได้รับการอนุมัติและมีบัตรประจำตัวจากกองทัพที่ได้เข้าร่วม
  5. ลูกเรือ รวมถึงนายเรือ คนนำร่อง และพนักงานฝึกหัดของเรือพาณิชย์ และลูกเรือของเครื่องบินพลเรือน ของประเทศที่ร่วมสงคราม ซึ่งไม่ไ่ด้รับการปฏิบัติที่ดีกว่าจากกฎหมายระหว่างประเทศอื่น
  6. ผู้อยู่อาศัยในเขตที่ไม่ได้ถูกยึดครอง ซึ่งจับอาวุธขึ้นต่อต้านกองกำลังที่บุกเข้าประชิด ทำให้ไม่มีเวลาจัดตั้งกองกำลัง โดยมีเงื่อนไขว่าต้องถืออาวุธโดยเปิดเผยและปฏิบัติการตามกฎและประเพณีการทำสงคราม

นั่นคือ ทหารที่ได้รับความคุ้มครองให้เป็นเชลยศึกเมื่อถูกจับกุม มีทั้งทหารประจำการ ทหารอาสา และพลเรือนที่เข้าร่วมรบ ซึ่งทหารประจำการ อาจจะเป็นทั้งทหารอาชีพ คือ เข้าเป็นทหารระยะยาวจนเกษียณ หรือมีสัญญาจ้างในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เช่น คนอเมริกันเมื่อสมัครเป็นทหารมักมีระยะเวลาสัญญาปฏิบัติหน้าที่พร้อมรบสี่ปีบวกกำลังสำรองสองปีแล้วแต่เหล่าหรือลักษณะงาน โดยเมื่อหมดระยะเวลาก็อาจเลือกทำสัญญาต่อเป็นระยะเวลาหนึ่ง จนเกษียณ ยกเว้นนายพลห้าดาวที่ไม่มีการเกษียณ ส่วนคนรัสเซียที่สมัครใจเข้าเป็นทหาร ก็มักมีเวลาสัญญาสามปี แต่ถ้าเป็นชาวต่างชาติจะมีระยะเวลาสัญญาห้าปี สุดท้ายคือทหารเกณฑ์ที่มาจากการกำหนดให้พลเรือนเข้าเป็นทหาร โดยมักมีระยะเวลาหนึ่งถึงสามปี เมื่อทหารเหล่านี้ถูกปลดประจำการ ก็จะกลายเป็นกำลังสำรองที่สามารถถูกเรียกเข้าประจำการใหม่เมื่อมีความจำเป็น

Thai Army Ads for Volunteers

ทหารอาสา (Military Volunteers) คือผู้เข้าร่วมกองทัพโดยสมัครใจในฐานะที่ไม่ใช่ทหารเกณฑ์ ทหารรับจ้าง หรือทหารต่างด้าว ซึ่งอาจจะรบให้ชาติตนเอง หรือประเทศอื่นที่เรียกว่าอาสาสมัครต่างด้าว (Foreign Volunteers) เช่น คนอเมริกันอาสาเข้าฝูงบินลาฟาแยตต์ (Lafayette Escadrille) ของกองทัพฝรั่งเศสในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ฝูงบินอินทรี (Eagle Squadrons) ของกองทัพอากาศอังกฤษ และเสือบิน (Flying Tigers) ของกองทัพจีนในสงครามโลกครั้งที่สอง ในประวัติศาสตร์ไทย ก็มีทหารอาสาต่างชาติเข้าร่วมรบตั้งแต่สมัยอยุธยา เช่น กองอาสาแขกจาม รามัญ จีน ญี่ปุ่น โปรตุเกส ฯลฯ และในปัจจุบันก็มีทหารอาสาที่ทำสัญญาจ้างด้วย

หน่วยพลเรือนติดอาวุธ (Militias) ในที่นี้หมายถึงหน่วยที่แตกต่างจากกองทัพที่ปฏิบัติหน้าที่เมื่อมีความจำเป็น เช่น กองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิ (National Guard) ของสหรัฐอเมริกาที่ขึ้นอยู่กับรัฐและถือเป็นกำลังสำรองประเภทหนึ่ง กองพันอาซอฟ (Azov Regiment) ที่เกิดจากแฟนคลับฟุตบอลที่รวมกลุ่มขึ้นต่อต้านกำลังรัสเซียในปี 2014 ก่อนจะขยายตัวและเข้าเป็นกองกำลังรักษาดินแดนของกระทรวงมหาดไทยยูเครน ส่วนของไทย ค่ายบางระจันก็น่าถือว่าเป็นหน่วยพลเรือนติดอาวุธได้

จึงเห็นว่าทหารที่ได้รับการคุ้มครองเมื่อถูกจับกุมในฐานะเชลยศึก จะนับรวมผู้ปกป้องประเทศที่อยู่อาศัยของตนไม่ให้ถูกยึดครอง ตั้งแต่ทหารประจำการ ทหารเกณฑ์ ทหารอาสา จนถึงพลเรือนติดอาวุธ ทั้งที่สังกัดกองทัพจนถึงกลุ่มป้องกันตนเอง โดยไม่ได้มีเงื่อนไขว่าต้องมีสัญชาติของประเทศนั้นด้วย ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะกองทัพหลายประเทศก็รับสมัครบุคคลที่มีสัญชาติอื่นเข้าร่วมกองทัพได้ เช่น สหรัฐอเมริการับผู้มีบัตรกรีนการ์ด อังกฤษรับสมัครคนจากประเทศในเครือจักรภพ ไอร์แลนด์ และทหารกุรข่าจากเนปาล ฝรั่งเศสมีกองทหารต่างด้าวฝรั่งเศส รัสเซียรับสมัครคนจากประเทศในเครือรัฐเอกราชและชาวต่างชาติที่พูดรัสเซียได้

ส่วนทหารรับจ้าง การนิยามในมาตราที่ 47 ของพิธีสารฉบับที่ 1 ในปี 1977 ได้กำหนดว่าทหารรับจ้างต้องมีคุณลักษณะครบหกข้อ คือ
  1. เป็นบุคคลที่ถูกจ้างจากในหรือนอกประเทศเพื่อร่วมในการทำสงคราม
  2. มีส่วนร่วมโดยตรงในการทำสงคราม
  3. มีแรงจูงใจเข้าร่วมรบเพื่อประโยชน์ส่วนตน ได้รับคำสัญญาว่าจะได้ค่าตอบแทนที่สูงกว่ามากเมื่อเทียบกับทหารที่มีตำแหน่งและหน้าที่คล้ายกันในกองทัพของประเทศที่ร่วมสงคราม
  4. ไม่ได้มีสัญชาติหรืออาศัยในดินแดนของประเทศที่ร่วมสงคราม
  5. ไม่ได้สังกัดกองทัพของประเทศที่ร่วมสงคราม
  6. ไม่ได้ถูกส่งจากรัฐที่ไม่ได้เข้าร่วมสงครามเพื่อปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการในฐานะผู้สังกัดกองทัพของรัฐนั้น

สรุปได้ว่าเมื่อพิจารณาว่าเป็นทหารรับจ้างทางกฏหมายหรือไม่ (ที่แตกต่างจากการเรียกตามอาชีพ) คือคนที่ไม่ได้มีสัญชาติ อยู่อาศัย หรือสังกัดกองทัพของประเทศที่ร่วมสงคราม ไม่ได้มาปฏิบัติการอย่างเป็นทางการโดยกองทัพรัฐอื่น และได้ผลตอบแทนมากกว่าคนในกองทัพ หรืออาจตีความได้ว่าเป็นคนที่เข้าร่วมรบเพื่อผลประโยชน์ตอบแทนส่วนตน ซึ่งแตกต่างจากผู้ที่รบเพราะปกป้องดินแดนที่อยู่อาศัย หน้าที่ อุดมการ เกียรติยศ ศักดิ์ศรี หรือความเชื่อ ฯลฯ

ด้วยเหตุทึ่ทหารรับจ้างต้องมีเงื่อนไขครบหกข้อ ทำให้การพิจารณาว่าเป็นทหารรับจ้างค่อนข้างยาก เพราะต้องมีลักษณะครบทุกข้อ โดยเฉพาะในเรื่องแรงจูงใจที่ต้องพิสูจน์ว่ารบเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน ซึ่งต่างจากส่วนอื่นที่ยังวัดประเมินได้ตามความเป็นจริงได้ไม่ยากนัก ทำให้มีการสถานะของทหารรับจ้างมีการพิจารณาผ่านศาล และไม่ว่าอย่างไร ทหารรับจ้างก็มีสิทธิได้รับการดูแลรักษาตามกกฎหมายด้านนนุษยธรรม และได้รับโอกาสขึ้นศาลของประเทศที่จับกุมตัว

ในการรบระหว่างยูเครนและรัสเซียที่เริ่มปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2565 เมื่อพิจารณาฝ่ายยูเครน คนต่างชาติที่เข้าไปอาสารบให้กองทัพยูเครนโดยไม่ได้อาศัยในยูเครนมาก่อน ก็จะไม่เข้าข่ายทหารรับจ้างหากมีสังกัดในกองทัพยูเครนและไม่ได้รับค่าตอบแทนมากกว่าทหารยูเครน โดยอาจยกเว้นทหารอาสาบางชาติ เช่น คนเชเชนและเบลารุสกลุ่มต่อด้านรัสเซีย หรือชาวรัสเซียที่ต่อต้านประธานาธิบดีปูตินที่อาจจะเจอข้อหาทรยศต่อชาติซึ่งหนักกว่า ส่วนทางกองกำลังรัสเซีย ทหารเชเชนก็ไม่ใช่ทหารรับจ้างเพราะมีสัญชาติรัสเซีย ทหารซีเรียก็ไม่ใช่ทหารรับจ้างหากไม่ได้รับค่าตอบแทนมากกว่าทหารรัสเซีย สมาชิกกลุ่มวาร์กเนอร์ที่มีอาชีพทหารรับจ้างก็ไม่ใช่ทหารรับจ้างเมื่อพิจารณาตามกฏหมายหากมีสัญชาติรัสเซียหรือไม่ได้ค่าตอบแทนมากกว่าทหารรัสเซียทั่วไป ฯลฯ

เมื่อเห็นข่าวว่า ศาลของสาธารณรัฐประชาชนโดเนตสก์ (ที่รัสเซียรับรอง) ได้ตัดสินให้ประหารชีวิตเชลย ในวันที่ 10 มิถุนายน 2565 เลยลองพิจารณาตามเงื่อนไขเฉพาะของอนุสัญญาเจนีวา ซึ่งทั้งสองประเทศได้รับรองสนธิสัญญาสี่ฉบับและพิธีสารสามฉบับ โดยรัสเซียได้รับสืบทอดจากสพภาพโซเวียต ส่วนยูเครนได้สืบทอดจากสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตยูเครน

คนแรก ไอเดน แอสลิน (Aiden Aslin) เป็นชาวอังกฤษที่เคยไปอาสาช่วยกองกำลังเคิร์ดรบในซีเรียจนถูกสอบสวนในอังกฤษ ปี 2018 ย้ายไปอยู่ยูเครน มีคู่หมั้นเป็นชาวยูเครน เข้าเป็นนาวิกโยธินยูเครน และได้สัญชาติยูเครน จึงมีสองสัญชาติ ซึ่งก็ทำให้เข้าข่ายเป็นทหารชาวยูเครนในสังกัดกองทัพยูเครนตามเกณฑ์ของเชลยศึกข้อ 1 และไม่มีคุณสมบัติของทหารรับจ้างข้อ 3-5

คนที่สอง ฌอน พินเนอร์ (Shaun Pinner) เคยเป็นทหารในกองทัพอังกฤษ มีประสบการณ์ประจำที่ไอร์แลนด์เหนือและบอสเนีย ในปี 2018 ย้ายไปอยู่ยูเครน แต่งงานกับสาวยูเครน และเข้าเป็นนาวิกโยธินยูเครนโดยมีสัญญาจ้างสามปี ถึงในข่าวไม่ได้บอกว่าได้สัญชาติยูเครน แต่ได้อาศัยอยู่ในยูเครน จึงเข้าข่ายเป็นทหารในสังกัดกองทัพยูเครนตามเกณฑ์ของเชลยศึกข้อ 1 และไม่มีคุณสมบัติของทหารรับจ้างข้อ 3-5

คนสุดท้าย บราฮิม ซาดูน (Brahim Saadoune) เป็นนักศึกษาชาวโมรอคโคที่เรียนที่สถาบันอุดมศึกษาในเคียฟ ก่อนจะเลิกเรียนและเข้าเป็นทหารในกองทัพยูเครนในปี 2021 โดยมีสัญญาระยะเวลาสามปี จึงเข้าข่ายเป็นทหารในสังกัดกองทัพยูเครนตามเกณฑ์ของเชลยศึกข้อ 1 และไม่มีคุณสมบัติของทหารรับจ้างข้อ 3-5

เมื่อพิจารณาว่าศาลโดเนตสก์ตัดสินให้ประหารชีวิตเชลยในความผิดฐานเป็นทหารรับจ้างและกระทำการที่มุ่งหมายจะยึดอำนาจและล้มล้างรัฐธรรมนูญของโดเนตสก์ แต่ดูอย่างไรทั้งสามคนก็ไม่ใช่ทหารรับจ้าง แต่เป็นทหารประจำการทั่วไป เพราะว่าถ้าใช้ตรรกะแบบเดียวกันมาพิจารณา จะทำให้ทหารสัญญาจ้างทั้งกองทัพรัสเซียที่มีอยู่ประมาณกว่าสองในสามของทหารทั้งหมดกลายเป็นทหารรับจ้างไปด้วย (ที่เหลืออีกกว่าหนึ่งในสี่ของกำลังพลคือทหารเกณฑ์ กับนายทหารสัญญาบัตรและนายทหารชั้นประทวน) และการที่ได้ความคุ้มครองจากอนุสัญญาเจนีวา ก็หมายความว่าไม่สามาถใช้ข้อหาต้องการยึดอำนาจและล้มล้างรัฐธรรมนูญได้

เมื่อเปรียบเทียบกับ ทหารรัสเซีย วาดิม ชิชิมาริน (Vadim Shishimarin) ที่ขึ้นศาลยูเครนและถูกตัดสินให้จำคุกตลอดชีวิต ก็เป็นคนละสถานการณ์ ชิชิมารินได้รับความคุ้มครองในฐานะเชลยศึก แต่ถูกฟ้องข้อหาฆ่าพลเรือนที่ปราศจากอาวุธ โดยมีพยานผู้เห็นเหตุการณ์ยืนยัน ทำให้มีความผิดในด้านก่ออาชญากรรมสงคราม ทั้งยังละเมิดอนุสัญญาเจนีวาฉบับที่ 4 ที่คุ้มครองพลเรือนด้วย

จขบ. มองว่า สงครามคราวนี้ อาจเป็นการเปิดฉากด้านกระบวนการยุติธรรมในช่วงสงคราม เนื่องจากมีอินเตอร์เน็ต สื่อโซเชียล และการบันทึกวิดีโอ ที่มีตั้งแต่การสังหารจนถึงปล้นสดมภ์ของทหารรัสเซีย การทรมานฆ่าเชลยศึกรัสเซียและการข่มขู่เยาะเย้ยญาติของทหารยูเครน หรือในทางกลับกันที่ทหารยูเครนติดต่อไปเยาะเย้ยญาติของทหารรัสเซีย โดยมีที่ผู้กระทำผิดเป็นผู้เผยแพร่เองด้วย ที่จะทำให้การฟ้องร้องบุคคลที่ก่ออาชญากรรมสงครามทำได้โดยมีหลักฐานที่หนักแน่นได้ง่ายขึ้นมาก

ทั้งนี้ ก็ต้องยอมรับการการบังคับใช้กฏหมายระหว่างประเทศ มีเงื่อนไขสำคัญว่าประเทศนั้นจะยอมทำหรือเปล่า ถ้าไม่สนใจ มีกำลังหรืออำนาจมากพอ และดึงดันจะทำ ก็ยากที่ประเทศอื่นจะบีบบังคับได้ โดยเฉพาะเรื่องความผิดของทหารตนเอง เช่น ทั้งยูเครนและรัสเซียที่ยังไม่ฟ้องร้องทหารของตนเองที่ปฏิบัติตนนอกกฏเกณฑ์ หรือกรณีที่รัสเซียที่ได้ลงนามเข้าร่วมศาลอาญาระหว่างประเทศในปี 2000 แต่ไม่ได้ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายในประเทศ และหลังจากเผชิญการสอบสวน เช่น เหตุการณ์ในการรบกับจอร์เจีย ก็ถอนตัวในปี 2016

นอกจากนี้ ก็ยังสามารถมองได้อีกแง่คือรัสเซียให้สาธารณรัฐประชาชนโดเนตสก์ที่ไม่เคยลงนามในอนุสัญญาเจนีวาเป็นการเลี่ยงความรับผิดชอบ ถ้าเกิดเรื่องอะไรภายหลัง ก็เป็นโดเนตสก์ที่รับไปก่อน ในกรณีนี้ถ้าโดเนตสก์ล่ม ก็คงโดนกวาดตั้งแต่หัวหน้าถึงลูกน้อง

ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม จขบ. คิดว่าการอ้างอนุสัญญาเจนีวาในการตัดสินประหารทหารทั้งสามคนนี้ เป็นการแถหนักมาก เอาจริงก็ประกาศว่าจะประหารเชลยศึกเลยสิ! ถึงปลายเดือนกันยายน 2565 มีข่าวแลกเชลยศึกทั้งสามคนที่มกุฎราชกุมารซาอุดิอารเบียเป็นคนกลางในการเจรจา ถ้าจะทำก็ต้องรับความจริงด้วย หลอกตัวเองไปก็ไม่มีประโยชน์ อย่าใช้ข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้นแบบตอนช่วงแรกที่บุกยูเครนเพราะต้องการกำจัดนีโอนาซี กว่าจะยอมรับว่าต้องการดินแดนก็อีกตั้งสามเดือน
[30/04/22, 14/06/22, 25/09/22]

ที่มา
[1] ICRC. The Geneva Conventions of 12 August 1949. 224 pages. [text]
[2] ICRC. Protocals Additional to the Geneva Conventions of 12 August 1949. 119 pages. [text]


สัพเพเหระ

Comments

Popular posts from this blog

หนังสือ: ร้านเช่า มือสอง และห้องสมุด

H. G. Wells - สยามไม่เคยให้อะไรแก่โลก?