H. G. Wells - สยามไม่เคยให้อะไรแก่โลก?

เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2556 มีกระทู้ใน Pantip (tag วิทยาศาสตร์) ที่ตั้งไว้ว่า คิดยังไง ที่ H.G. Wells กล่าวว่า สยามไม่เคยให้อะไรแก่โลกเลย มีแต่เอาประโยชน์จากโลก


โดยผู้เขียนกระทู้ได้เอาข้อความนี้มาจากบล็อก ที่ผู้เขียนใช้นามแฝงคนถางทาง คนไทยไม่เคยให้อะไรแก่โลก (ตอนที่ ๑) ที่เขียนเมื่อ 12 ธันวาคม 2555 ซึ่งบอกว่า หลายปีก่อนพี่ชายสุดที่รักให้หนังสือมาอ่านเล่มหนึ่ง ถ้าจำไม่ผิดชื่อ "พระเจ้ากรุงสยาม" แต่งโดย ส.ธรรมยศ ผมอ่านด้วยความสนุกมาก มีตอนหนึ่ง ส.ฯ เล่าว่า HG. Wells (นักประพันธ์ชื่อดังของอังกฤษ) เคยเขียนไว้ว่า "สยามไม่เคยให้อะไรแก่โลกเลย มีแต่เอาประโยชน์จากโลก"

กับอีกแหล่งที่กล่าวเลยโดยไม่ได้อ้างใครคือบทความ 'ประชาธิปไตย+ทุนนิยม = หายนะ' โดย ทวิช จิตรสมบูรณ์ ที่เว็บผู้จัดการ ลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2553 ที่ขอยกข้อความมา H.G. Wells นักประพันธ์ชื่อดังชาวอังกฤษผู้ล่วงลับเคยกล่าวอย่างเหยียดหยามว่า "คนไทยไม่เคยให้อะไรกับโลกนี้เลย" คราวนี้น่าจะลองลบคำสบประมาทนี้ดูสักที ถ้าทำได้สำเร็จจะเป็นบุญอีกด้วยที่ช่วยโลกให้รอดหายนะ

และเมื่อค้นเพิ่มเติมก็ยังเจอบทความอีกอัน แก้รถติดด้วยสะพานลอยแบบรวดเร็วและราคาถูก (ฝากไว้ให้ไทยและโลก) โดยในบล็อกของคนถางทางเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2555 ซึ่งเป็นเรื่องการสร้างสะพานโครงถัก เนื้อหาทางเทคนิคเป็นอย่างไรไม่ขอคอมเมนต์ แต่ที่ติดใจอยากเพิ่มในบล็อกนี้เพื่อความครบถ้วน คือย่อหน้าที่ว่า HG Wells นักประพันธุ์อังกฤษชื่อก้อง (เคยมาอยู่เมืองไทย) เคยเขียนไว้ว่า คนไทยไม่เคยให้อะไรแก่โลกเลย

สำหรับผู้ที่ไม่รู้จัก Herbert George Wells (1866-1946) คนนี้เป็นนักเขียนมีชื่อชาวอังกฤษ ถือเป็นนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์รุ่นบุกเบิกคู่กับ Joules Verne นิยายที่เป็นที่รู้จักก็เช่น 'The War of the Worlds', 'The Time Machine', 'The Invisible Man', 'The First Men in the Moon' และ 'The Island of Doctor Moreau' นอกจากนี้ยังมีผลงานหนังสือประวัติศาสตร์ วิจารณ์สังคมการเมือง และสิทธิมนุษยชนอีกหลายเล่ม

มีความเห็นส่วนหนึ่งที่สงสัยว่า H. G. Wells เคยพูดแบบนี้จริงหรือไม่ โดยมีกระทู้ H.G. Wells กล่าวว่า "สยามไม่เคยให้อะไรแก่โลก" จริง หรือเพียงมโนเอาเองของคนเปิดประเด็น อย่างทันควันในวันเดียวกัน ซึ่ง จขบ. ก็เป็นคนหนึ่งที่กังขาด้วย และอาจจะสงสัยมากเพราะค้นเน็ตยังไงก็ไม่พบ เบาะแสเดียวที่มีคือเรื่อง 'พระเจ้ากรุงสยาม' ซึ่งเมื่อค้นดูในห้องสมุดก็พบว่ามีอยู่หลายเล่ม พอได้โอกาสเลยไปยืมมาอ่าน

ในเล่มพบข้อความที่อ้างถึง H. G. Wells ที่หน้า 9 (ตามรูปถ่าย) ซึ่งดูแล้วก็สื่อความหมายไม่เหมือน ทางนี้บ่งบอกว่าไม่มีความสำคัญแต่ไม่ได้เหยียดหยาม โดยเฉพาะถ้าอ่านบริบทและสำนวนของผู้แต่งทั้งก่อนหน้าและหลังเข้าไปด้วย ในหนังสือของนายเวลส์ได้กล่าวถึงประเทศสยามอย่างแจ่มชัดตรงไปตรงมาว่า อุปมาดั่งประเทศที่อยู่นอกโลก ไม่มีส่วนให้ (Contribute) ความสำคัญใดๆ แก่มนุษยชาติ และไม่เป็นประเทศที่สามารถเปลี่ยนวิถีแห่งประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติได้


แต่หนังสือ 'พระเจ้ากรุงสยาม' ก็ยังไม่ตอบโจทย์ว่าเอาข้อความด้านบนนี้มาจากไหน โชคดีที่บอกว่ามาจากหนังสือประวัติศาสตร์สากลซึ่งหาข้อมูลง่าย เพราะถ้าเป็นพวกบทสัมภาษณ์หรืออย่างอื่นจะค้นยากกว่ามาก และอาจทำให้ จขบ. ถอดใจเพราะต้องลงทุนมากเกินไป เมื่อลองค้นดูผลงาน non-fiction ของ H. G. Wells โดยคร่าวๆ ก็พบว่ามีการเขียนถึงประเทศสยามหรือคนสยามดังนี้

ใน 'Experiment in Autobiography' กล่าวถึงสยามสองแห่งที่หน้า 54 ที่กล่าวว่าอ่านหนังสือเกี่ยวกับประเทศต่างๆ กับที่หน้า 337 ช่วงการเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกที่เรือพระที่นั่งออกจากท่าและมีการยิงสลุต

There was a work, in two volumes, upon the countries of the world, which I think must have been made of bound up fortnightly parts. It was illustrated with woodcuts, the photogravure had still to come in those days, and it took me to Tibet, China, the Rocky Mountains, the forests of Brazil, Siam and a score of other lands.

And speaking of the Jubilee he saw nothing of it whatever, except that he went to see the ironclads-hundreds of 'em lying all along Spithead and the Solent for miles and miles and miles.-He went round the show twice in a steamboat accompanied by that chap! And while he was going round the King of Siam in his yacht came out of Portsmouth Harbour and every blessed ironclad let off a gun (illustration).

ใน 'The Outline of History' กล่าวถึงสยามสี่แห่งใต้หัวข้อภาษาจีน ประวัติศาสตร์จีน และอิทธิพลของวัฒนธรรมจีน บวกกับรายชื่อประเทศที่เข้าร่วมสันนิบาตชาติ ที่หน้า 62, 73, 260, 492

A fifth region of language formation was south-eastern Asia, where there still prevails a group of languages consisting of monosyllables without any inflections, in which the tone used in uttering a word determines its meaning. This may be called the Chinese or MONOSYLLABIC group, and it includes Chinese, Burmese, Siamese, and Tibetan.

We Europeans know very little as yet of the ethnology and pre-history of southern China. There the Chinese mingle, with such kindred peoples as the Siamese and Burmese, and seem to bridge over towards the darker Dravidian peoples and towards the Malays.

China's civilization had already reached its culmination in the seventh century A.D., its crowning period was the Tang period; and though it continued to spread slowly and steadily into Annam, into Cambodia, into Siam, into Tibet, into Nepal, Korea, Mongolia, and Manchuria, there is henceforth little more than such geographical progress to record of it in this history for a thousand years.

The original membership of the league as specified in the projected Covenant was: the United States of America, Belgium, Bolivia, Brazil, the British Empire (Canada, Australia, South Africa, New Zealand, and India), China, Cuba, Ecuador, France, Greece, Guatemala, Haiti, the Hedjaz, Honduras, Italy, Japan, Liberia, Nicaragua, Panama, Peru, Poland, Portugal, Rumania, the Serb-Croat-Slovene State, Siam, Czecho-Slovakia, and Uruguay.

ในฉบับย่อ 'A Short History of the World' มีคำว่าสยามอยู่หนึ่งคำ บริบทเกี่ยวกับการเผยแผ่ศาสนาพุทธออกจากอินเดียที่หน้า 166

For long centuries Buddhism and Brahminism flourished side by side, and then slowly Buddhism decayed and Brahminism in a multitude of forms replaced it. But beyond the confines of India and the realms of caste Buddhism spread—until it had won China and Siam and Burma and Japan, countries in which it is predominant to this day.

พอถึงตอนนี้ จขบ. ก็ชักจะตัน ต้องย้อนมาที่แหล่งข้อมูลอีกที ไหนๆ ข้อความที่ปรากฏอยู่ใน 'พระเจ้ากรุงสยาม' ก็มีคำอังกฤษอยู่หนึ่งคำ คือ Contribute เลยลองค้นด้วยคำนี้ในเล่ม 'A Short History of the World' ซึ่งกลายเป็น breakthrough อย่างไม่คาดคิด เพราะเจอข้อความที่น่าจะเป็นต้นฉบับ เพียงแต่ไม่ได้เกี่ยวกับสยามเท่านั้นแหละ

ข้อความที่คล้ายคลึงนี้ปรากฏใต้หัวข้อ LXIII European Aggression in Asia and the Rise of Japan ที่หน้า 400

But now a new Power appeared in the struggle of the Great Powers, Japan. Hitherto Japan has played but a small part in this history; her secluded civilization has not contributed very largely to the general shaping of human destinies; she has received much, but she has given little. The Japanese proper are of the Mongolian race. Their civilization, their writing and their literary and artistic traditions are derived from the Chinese.

จขบ. ขอแปลอย่างหยาบๆ ไว้ว่า 'แต่บัดนี้ ญี่ปุ่นก็เป็นอำนาจใหม่ที่ปรากฏขึ้นท่ามกลางการแย่งชิงของเหล่ามหาอำนาจ ก่อนหน้านั้นญี่ปุ่นมีบทบาทน้อยในประวัติศาสตร์ อารยธรรมที่โดดเดี่ยวมีผลกระทบไม่มากต่อทิศทางชะตากรรมของมนุษย์ชาติ ประเทศนี้ได้รับ [อารยธรรมจากภายนอก] มาก แต่ให้ออกน้อย [ประชากรใน] ดินแดนญี่ปุ่นหลักเป็นชาติพันธุ์มองโกเลียน อารยธรรม อักษร วรรณกรรม และ ศิลปะวัฒนธรรม มีรากฐานมาจากของจีน'

ประโยคเหล่านี้เป็นเพียงบทนำของข้อความต่ออีกยาวยืดเรื่องประวัติญี่ปุ่นว่าไม่ได้มีบทบาทมากในประวัติศาสตร์โลกก่อนเปิดประเทศ ซึ่งก็ไม่ได้มีการเหยียดหยามอะไร และพูดตามตรงคือไม่ได้เข้าข้างการเผยแผ่ศาสนาคริสต์ที่ส่งผลต่อการปิดประเทศด้วย

และเมื่อเจอตรงนี้ ก็ไปค้น 'The Outline of History' ซึ่งเป็นฉบับละเอียด ก็พบเวอร์ชั่นร่ายยาวกว่าในหัวข้อประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น (หน้า 454) ด้วยตามคาด

The pioneer country, however, in the recovery of the Asiatic peoples was not China, but Japan. We have outrun our story in telling of China. Hitherto Japan has played but a small part in this history; her secluded civilization has not contributed very largely to the general shaping of human destinies; she has received much, but she has given little. The original inhabitants of the Japanese Islands were probably a northern people with remote Nordic affinities, the Hairy Ainu. But the Japanese proper are of the Mongolian race.

สรุปด้วยข้อมูลปัจจุบันคือ H. G. Wells ไม่เคยแสดงความเห็น 'สยามไม่เคยให้อะไรแก่โลกเลย มีแต่เอาประโยชน์จากโลก' นี้เลย จึงขอเสนอเรื่องนี้ไว้เป็นบทเรียนถึงคำเล่าที่ไม่มีที่มาที่ไปหรือหลักฐานอ้างอิง โดยได้ตัดเรื่องไปตั้งกระทู้เองด้วย 'จริงหรือที่ H. G. Wells กล่าวว่า สยามไม่เคยให้อะไรแก่โลกเลย มีแต่เอาประโยชน์จากโลก'

นอกจากนี้ ยังสงสัยว่า H. G. Wells เคยมาอยู่หรือเดินทางมาเมืองไทยด้วยหรือ เพราะอย่างน้อยที่สุดในหนังสืออัตชีวประวัติ 'Experiment in Autobiography' ที่เขียนขึ้นเมื่ออายุหกสิบกลางหรือเพียงสิบกว่าปีก่อนเสียชีวิต ก็ไม่ได้พูดถึง และเมื่อสงสัยได้ที่ก็ตามไปดูในหนังสือชีวประวัติ 'H. G. Wells : Aspects of a Life' ที่ลูกชายของ H. G. Wells เขียนเอง ก็ไม่เห็นว่ามาประเทศสยามหรือไทยแต่อย่างใด

เพิ่มเติมอีกว่าไปเจอกระทู้ 'สรุปการที่ไทยไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใครมันเป็นข้อดีหรือข้อเสียเนี่ย' (6 มิถุนายน 2557) ที่มีผู้แสดงความเห็น (สมาชิกหมายเลข 1382666) ยกข้อความนี้มาอีกแล้วในกระทู้ที่ 1 ซึ่ง จขบ. อยากขอขอบคุณคุณซ่อนนามที่ตอบจังค่ะ แบบว่าเรื่องเข้าใจผิดหรือเผยแพร่ผิดๆ นี่มันช่างน่ากลัวจริงๆ นะคะ

และที่ตกใจเพิ่มเติมคือพอลองค้นตามรูปดู ก็พบว่ารูปหน้า H. G. Wells พร้อมคำผิดๆ นี่แพร่กระจายมากเหลือเชื่อ เฉพาะในพันทิปก็มีในกระทู้ 'เคยรู้สึกว่าตนเองเป็นแค่ '"มนุษย์ตัวเล็กๆคนนึง"' กันปะครับ??' จากความเห็นของสมาชิกหมายเลข 1382666 เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2557 และก็มีอีกชุด '++ จะทำอย่างไรให้ประเทศไทยเจริญเทียบเท่าประเทศเกาหลีใต้ บ้างครับ?++' เมื่อ 21 ธันวาคม 2556 และ 'อยากทราบเรื่องการพัฒนาของประเทศเกาหลีครับ จากที่แต่ก่อนไทยกับเกาหลีไม่ต่างกัน' 30 ธันวาคม 2556

ความรู้สึก จขบ. คือ เรื่องนี้ออกมาโอละพ่อ ขึ้นต้นเป็นลําไม้ไผ่ พอเหลาลงไปกลายเป็นบ้องกัญชา (แบบว่ารู้สึกเมาจริงๆ) และถ้ามีใครเจอข้อมูลเพิ่มเติม ช่วย comment หน่อยนะคะ เพราะไม่คิดจะเขียนเปเปอร์ เลยไม่จำเป็นต้องออกแรงไล่อ่านอย่างละเอียดทุกเล่มเพื่อปิดประตูให้สนิท ถ้ามีข้อมูลอื่นก็รบกวนบอกด้วยนะคะ ^_^
[21/10/13, 25/12/14, 19/09/18]

ที่มา
[1] ส.ธรรมยศ. Rex Siamen Sium หรือ พระเจ้ากรุงสยาม. สำนักพิมพ์มติชน, 455 หน้า, 2547 (พิมพ์ครั้งแรก 2495).
[2] H. G. Wells. Experiment in Autobiography. Project Gutenberg Canada Ebook, 1934. [Text]
[3] H. G. Wells. The Outline of History. Internet Archive Ebook, 1920. [Text]
[4] H. G. Wells. A Short History of the World. Project Gutenberg EBook, 1922. [Text]
[5] Anthony West. H. G. Wells : Aspects of a Life. Random House, 405 pages, 1984.


คำพูดที่ไม่ได้กล่าว

Comments

Popular posts from this blog

หนังสือ: ร้านเช่า มือสอง และห้องสมุด

ความสัมพันธ์ญาติ: เสืออากาศตระกูลริชโธเฟ่นในสงครามโลกครั้งที่ 1